มนต์เสน่ห์ของ“Passion”ในธุรกิจการส่งมอบความสุข

 
คุณไพศาล อ่าวสถาพรผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอาหาร ที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการธุรกิจอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 30  ปี

คุณไพศาล อ่าวสถาพร

ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอาหาร ที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการธุรกิจอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 30  ปี

Screen Shot 2020-06-19 at 2.06.58 PM.png
Screen Shot 2020-06-19 at 2.32.39 PM.png

เพราะคำว่าแพสชั่น (Passion) นี้ ได้หล่อหลอมให้ผมเกิดความรัก และหลงใหลในธุรกิจนี้ โดยมีจุดตั้งต้นครั้งแรกเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว หลังจากที่ผมจบจากพาณิชย์พระนครแล้วเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีและโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลังจากจบปริญญาตรีและกำลังเรียนในระดับปริญญาโทต่อก็ได้เข้าไปทำงานที่ร้านอาหารประเภทไฟน์ ไดน์นิ่ง (Fine Dining) ของที่นั่น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความหลงใหลในอาชีพนี้  ซึ่งการทำงานในร้านอาหารที่เป็นไฟน์ ไดน์นิ่ง ที่อเมริกา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำธุรกิจร้านอาหาร ด้วยเหตุที่ว่าร้านอาหารประเภทนี้ ต้องใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอน ทั้งเรื่องของรสชาติอาหาร และบริการ ตลอดจนรายละเอียดรอบข้างอื่น ๆ ที่กลายเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าในอาชีพนี้

เมื่อกลับเมืองไทย เส้นทางในธุรกิจร้านอาหารของผมถูกพอกพูนประสบการณ์มากยิ่งขึ้น เมื่อมีโอกาสเข้าร่วมงานกับเชนคิวเอสอาร์ (QSR) รายใหญ่ประเภทไก่ทอด ซึ่งในตอนเริ่มต้นของการทำงาน ผมคิดว่า ร้านอาหารประเภทคิวเอสอาร์ น่าจะทำง่ายกว่าไฟน์ ไดน์นิ่ง แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะเราต้องเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจถึงเรื่องของระบบหรือรูปแบบการบริหารจัดการ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าทึ่งอย่างมาก เพราะธุรกิจร้านอาหารที่เป็นเชนคิวเอสอาร์นี้ สามารถทำให้ทุกสาขาในทั่วโลกมีมาตรฐานเดียวกันหมด ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก จึงเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าสำหรับผม ยิ่งเมื่อถูกต่อยอดจากการมีโอกาสเข้าร่วมงานกับบริษัทด้านอาหารยักษ์ใหญ่สัญชาติไทยที่ตอนนั้นกำลังมีโครงการ “ครัวไทย สู่ครัวโลก” ก็ยิ่งทำให้ประสบการณ์ในการทำธุรกิจร้านอาหารของมีความหลากหลายมากขึ้น เพราะได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ โดยเฉพาะการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ ในช่วงเวลานั้น

Screen Shot 2020-06-19 at 2.13.14 PM.png

การมีแพสชั่นกับการทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันจะเข้ามาเป็นกลไกที่หล่อหลอมเราให้อยากจะเรียนรู้อย่างไม่มีวันจบสิ้น แม้จะต้องแลกมาด้วยการทำงานหนัก และทุ่มเทกับมันอย่างเต็มที่ แต่ประสบการณ์เหล่านั้นจะเพาะบ่มให้เราสามารถก้าวไปบนเส้นทางที่เราหลงใหลใฝ่ฝันได้อย่างแข็งแกร่ง

ถึงบรรทัดนี้ จึงอยากจะบอกทุก ๆ คนว่า

การทำงานโดยมีแพสชั่นเป็นเข็มทิศ ในการขับเคลื่อนตัวเรานั้น มีค่าอย่างมาก เพราะจากวันนั้นถึงวันนี้ สิ่งที่ผมได้เรียนรู้นั้น มันเป็นเสมือนกับการต่อ “จิ๊กซอว์” ที่ทำให้องค์ความรู้มันเป็นภาพที่ใหญ่ขึ้น

แล้วเป็นการเรียนรู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งอาจจะต่างจากหลาย ๆ คนที่ทำมาหลากหลายธุรกิจ ซึ่งคำว่าแพสชั่นนี้เข้ามาเป็นพลังขับเคลื่อนในการทำงานที่ทำให้ผมอยู่กับธุรกิจร้านอาหารมาตลอด 30 กว่าปี โดยไม่ได้ข้ามสายไปทำธุรกิจอื่น ๆ นับตั้งแต่เริ่มต้นกับมันมา สิ่งต่าง ๆ ที่ผมได้เรียนรู้มานั้น ถือว่าล้ำค่ามาก เพราะมันเป็นแรงส่งสำคัญที่ทำให้ ปัจจุบัน ผมสามารถดีไซน์ธุรกิจร้านอาหารอะไรก็ได้ที่สามารถจะตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงตามความต้องการของพวกเขา เพราะผมมีความเข้าใจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะในมุมของผู้บริโภค ที่ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มา เข้ามาช่วยทำให้เราเข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น ได้เรียนรู้แบบตกผลึกว่า  ผู้บริโภคในบ้านเรา มีวิวัฒนาการในการบริโภคอย่างไร

ไม่เพียงเท่านั้น มันยังทำให้ผมเข้าใจในเรื่องของการบริหารจัดการในเรื่องของธุรกิจอาหารที่มันมีความหลากหลายรูปแบบ ตั้งร้านอาหารที่เป็นไฟน์ ไดน์นิ่ง ฟาสต์ฟู้ด จนถึงบุฟเฟต์ ด้วยรูปแบบการบริหารจัดการที่ดี และตรงใจกับความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

Screen Shot 2020-06-19 at 2.48.57 PM.png

อย่างไรก็ตาม แม้ลูกค้า จะเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจร้านอาหาร แต่เราต้องไม่ลืมว่าเรื่องของ “คน” หรือทีมงาน ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เช่นเดียวกับเรื่องขององค์ความรู้ในการบริหารจัดการ ประสบการณ์ที่ถูกเพาะบ่มมาอย่างยาวนาน ทำให้เราสามารถดึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่มาใช้แต่ละสถานการณ์ของการบริหารได้เป็นอย่างดี ซึ่งผมเองจะให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่เราล้มเหลวมากกว่าชนะ เพราะในยามที่เราล้มเหลวมักจะทำให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ และหาวิธีการใหม่ ๆ ในการที่จะเอาชนะจนสามารถพลิกฟื้นธุรกิจกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เพราะในทุกวิกฤตที่เกิดขึ้น มันจะกลายเป็นโอกาสที่ดีในการที่เราจะสามารถนำมาปรับปรุง พัฒนาและต่อยอดไปสู่อะไรที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยเราจะต้องมีจะเรื่องของลีดเดอร์ชิพ (Leadership) ด้วย ซึ่งการที่เราจะทำได้ ต้องมีแพสชั่นและกลยุทธ์ในการบริหารจัดการ ถ้ามี กลยุทธ์แต่เราไม่มีองค์ความรู้ และภาวะของความเป็นผู้นำ คงจะไม่สามารถนำพาธุรกิจฝ่าวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้

Screen Shot 2020-06-19 at 2.50.55 PM.png

ที่สำคัญ เมื่อเกิดวิกฤต คนเป็นผู้นำต้องนิ่ง พร้อมกับต้องหาวิธที่จะให้ทีมงานใต้บังคับบัญชาต้องนิ่งตามด้วย พร้อมกับคิดหาวิธีว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ผู้นำจึงต้องมีสติก่อน เพื่อที่จะคอยชี้นำให้เขาเดินไปอย่างไร  “คน” จึงเป็นสิ่งที่ผมดูแลก่อนเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนอันดับสอง ผมจะประเมินธุรกิจว่า อยู่ในสถานการณ์ไหน แล้วค่อยหาวิธีการจัดการว่าจะจัดการอย่างไร และ อันที่สาม จัดการธุรกิจว่ามันจะทำอย่างไรจะมาดูว่ามันจะประคับประคองอย่างไร หรือจะทำอย่างไรให้มันอยู่รอดได้ แล้วสุดท้าย จะเป็นการมองหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจมันฟื้นกลับมาได้

อย่างที่บอกไปใน 2 ย่อหน้าที่แล้วว่า “คน” ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจร้านอาหาร เพราะธุรกิจร้านอาหารก็คือธุรกิจบริหารที่ต้องส่งมอบความสุขให้กับลูกค้า “คน” จึงเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมต่อในการส่งความสุขผ่านทุก ๆ มื้ออาหาร หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่จะทำอย่างไรให้สามารถสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมกับหล่อหลอมแพสชั่นในการทำงานเพื่อให้ทุกดวงใจของทีมงาน พร้อมที่จะเดินไปในทิศทางเดียวกัน

Screen Shot 2020-06-19 at 2.57.10 PM.png

Opinion sharing by 

คุณไพศาล อ่าวสถาพร

Previous
Previous

อะไรที่มาก่อน Marketing Mix ในนิยามการทำงานยุคดิจิทัล

Next
Next

Covid-19 แขกที่ไม่ได้รับเชิญ